ประเภท ลักษณะ ที่มา โทษ ภูมิคุ้มกัน แหล่งรักษา กฎหมาย หน้าแรก
การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย มีหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ 
1. การลดอุปทาน หรือ ลดปริมาณยาเสพติด (Supply Reduction) 
2. การลดอุปสงค์ หรือ ลดความต้องการใช้ยาเสพติด (Demand Reduction) 
การลดอุปทาน 
การดำเนินงานลดปริมาณยาเสพติด ใช้มาตรการ ดังนี้ 

- มาตรการควบคุมพืชเสพติด 
การควบคุมพืชเสพติดในพื้นที่ปลูกฝิ่น ดำเนินการโดยใช้วิธีพัฒนาชนบทแบบผสมผสานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ลักลอบปลูกฝิ่น ควบคู่ไปกับการตัดฟันทำลายฝิ่นที่มีการลักลอบปลูก การป้องปรามไม่ให้มีการปลูกพืชเสพติดโดยให้การศึกษา เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และปฏิบัติการทางจิตวิทยา สร้างเงื่อนไขกดดันกลุ่มประชากรเป้าหมาย ส่วนการควบคุมพื้นที่ปลูกกัญชา ใช้วิธีการปราบปรามด้วยการตัดฟันทำลายไร่กัญชา ปราบปรามนายทุน และปฏิบัติการทางจิตวิทยากดดัน ป้องปรามผู้ลักลอบปลูกกัญชา 
- มาตรการปราบปราม 
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นปราบปรามการผลิตเฮโรอีน ยาบ้า ด้วยการสกัดกั้นจับกุมการนำเข้าสารเคมี จับกุมทำลายแหล่งผลิตและขยายผลไป ถึงนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นยังดำเนินการปราบปรามกลุ่มการค้าและลำเลียงลักลอบขนยาเสพติดข้ามมาจากชายแดน เขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ได้มุ่งเน้นขยายงานสืบสวนจับกุมผู้จำหน่ายยาเสพติด นอกจากนี้ ยังได้มีการริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดควบคู่กันไปด้วย การลดอุปสงค์ การดำเนินงานลดความต้องการใช้ยาเสพติด ใช้มาตรการ ดังนี้ 
- มาตรการป้องกันยาเสพติดและให้ภูมิคุ้มกัน

เป็นการให้การศึกษา ข่าวสาร ความรู้ และข้อมูลในเรื่องของยาเสพติดอย่าง ถูกต้องด้วยวิธีการต่างๆ ไปสู่ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมิให้ประชาชนหันไปใช้ยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของตัวยา รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมมิให้มีส่วนผลักดันให้เกิดปัญหายาเสพติด ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 
1. ใช้กระบวนการทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน เพื่อ ให้ความรู้ ปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมในการต่อต้านยาเสพติด 
2. พัฒนาเนื้อหา กลยุทธ์ เทคโนโลยีในการให้การศึกษา การเผยแพร่ และการผลิตสื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การรับรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มเป้าหมาย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
3. นำวิธีการป้องปรามมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มเสี่ยง 
4. จัดให้มีกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสม เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยปลูกฝังนิสัยการไม่ใช้ยาเสพติด 
5. ระดมทรัพยากรและความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วน ร่วมในการป้องกันยาเสพติดอย่างเป็นระบบ 
6. สร้างแนวร่วมการป้องกันการใช้ยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ระดับ โดย ให้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา และองค์กรประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด 
7. สร้างเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตโดยปราศจาก การใช้ยาเสพติด จัดทำระบบข้อมูลข่าวสารและวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและการประสานงาน 
8. ศึกษาวิจัยและติดตามประสิทธิผลเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกัน ยาเสพติดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหา 
- มาตรการบำบัดรักษา

การบำบัดรักษายาเสพติดเป็นมาตรการหลักอย่างหนึ่งในการแก้ ปัญหายาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดหยุดเสพยาให้นานที่สุดจนสามารถเลิกได้โดย เด็ดขาดเพื่อลดความเดือดร้อนของสังคม ลดการแพร่ระบาดของยาเสพติด และเพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ เนื่องจากการติดยาเสพติดเป็นการป่วยทั้งทางกายและจิตใจ ดังนั้น การบำบัดรักษานอกจากจะถอนพิษยาเพื่อรักษาอาการทางร่างกายแล้ว ยังจะต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดฟื้นคืนจากอาการ ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้โดยไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก ซึ่งการถอนพิษยาอาจทำได้โดย ใช้ยาทดแทน ใช้ยาระงับอาการ หรือใช้วิธีหักดิบ เป็นต้น ส่วนการฟื้นฟูสมรรถภาพ อาจทำได้โดย ใช้แบบมาตรฐาน ชุมชนบำบัด ครอบครัวบำบัด และศาสนบำบัด เป็นต้น
 

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

จัดทำโดย...นายไชยา  เฉลียวพงษ์  อาจารย์ 1 โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย